handysense
ตชด.ภาค 1 จับมือเนคเทค จัดโครงการ “เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยสมาร์ตฟาร์มแบบพอเพียง”

Tue Apr 24 2018

HandySense

กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. เปิดศูนย์เรียนรู้ “เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยสมาร์ตฟาร์มแบบพอเพียง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 และสนองตามพระบรมราโชบายในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” องค์ความรู้และพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โดยมุ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบสมาร์ตฟาร์มแบบพอเพียงให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สามารถนำไปใช้ถ่ายทอดวิชาให้กับนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ ก่อให้เกิดการทำเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้ ณ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

ศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยสมาร์ตฟาร์มแบบพอเพียง

พล.ต.ต.ไพโรจน์ ทานธรรม ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 กล่าวว่า

“ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561 – 2580 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยไว้ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้ สืบสาน ต่อยอด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เมืองไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้ประชาชนในประเทศได้ใช้เป็นแหล่งสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่เลี้ยงชีพและสามารถส่งออกขายต่างประเทศได้

แต่ในยุคปัจจุบันที่ประชากรในประเทศมีจำนวนสูงขึ้น และได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการขาดแคลนผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรม แนวคิดการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้าน Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะ จึงได้ถูกนำมาขยายผลอย่างจริงจัง เพื่อให้ภาคการเกษตรของไทยมีทางออกในการดำเนินงาน หรือแม้แต่ประชากรในยุคอนาคตก็สามารถที่จะทำการเกษตรแบบพอเพียงได้ด้วยตนเอง กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 1 จึงได้ขอความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค – สวทช. ให้ช่วยดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมฝึกอบรมครูตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อสามารถนำไปขยายผลให้กับนักเรียน ประชาชน ในพื้นที่ความรับผิดชอบต่อไป”

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวในพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยสมาร์ตฟาร์มแบบพอเพียงว่า

“เนคเทค- สวทช. มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะมานาน โดยระบบที่นำมาถ่ายทอดให้กับ ตชด.ในครั้งนี้เป็นผลงานวิจัยที่ชื่อว่า Handy Sense ระบบเกษตรแม่นยำ ที่นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (sensor) ผนวกอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) สู่อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืชผล ตั้งแต่การปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำ การให้ปุ๋ย การป้องกันแมลง รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น รวมถึงปริมาณแสงอีกด้วย

ระบบ Handy Sense จะทำงานร่วมกัน 2 ส่วน คือ (1) อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุม (2) web application โดย Handy Sense จะตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชผลแบบ เรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์ (sensor) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นสัมพัทธ์ แสง และส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ผ่านระบบคลาวด์แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืช (Crop Requirement) เพื่อแจ้งเตือนและสั่งการระบบต่าง ๆ ให้ทำงานต่อไป โดยทีมวิจัยและพัฒนาได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืช (Crop Requirement) หลายชนิดป้อนค่าไว้ในแอปพลิเคชันโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น เมล่อน มะเขือเทศ มะม่วง ข้าว ผักไฮโดรโปรนิกส์ เห็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นให้เกษตรกรสามารถป้อนค่าเหล่านี้ได้ด้วยตนเองอีกด้วย

เนคเทค-สวทช. มุ่งหวังว่า Handy Sense จะเป็นเครื่องมือที่ใคร ๆ ก็มีและสามารถใช้งานได้ในราคาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยยุคใหม่ มีการขยายผลการเรียนรู้และการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่บริการของตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ อันจะก่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยสมาร์ตฟาร์มแบบพอเพียงต่อไป”

คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส เนคเทค-สวทช. นำเสนอผลงานอุปกรณ์ “Handy Sense”

handysense
handysensehandysense

ที่อยู่

ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (SPD)

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.)

ติดต่อเรา

025646900 ต่อ 2353

https://www.nectec.or.th/innovation/

HandySense Community

Copyright © 2020 | Privacy Policy | Terms