handysense
ก.เกษตรฯจับมือพันธมิตรเผยแพร่พิมพ์เขียวระบบเกษตรอัจฉริยะ “HandySense” หวังพัฒนาภาคเกษตรครบวงจร

Wed Mar 24 2021

piya_cha

กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือเนคเทค ธ.ก.ส. และหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้า “โครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่” HandySense : Smart Farming Open Innovation จัดทำต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ เป้าหมายจะดำเนินการ  16 จุด เป้าขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566 หวังพัฒนาการผลิต และคุณภาพสินค้า ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว “โครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่” HandySense : Smart Farming Open Innovation ณ กรมส่งเสริมการเกษตร ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณืการเกษตร ธ.ก.ส. และหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ คือ ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) โดยการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบ ใน ศพก. และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรด้วย

ทั้งนี้เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่  เพื่อยกระดับสู่การทําเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา (Precision Agriculture) 

        ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเกษตรและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร

2) การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มต่างๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและพัฒนาเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่ และ 3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากการศึกษาวิจัยสำหรับถ่ายทอดสู่เกษตรกร และสะท้อนข้อมูลจากประสบการณ์ในงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปกำหนดโจทย์หรือประเด็นการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมดำเนินการขยายผลงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับ ดีแทค และ เนคเทค อาทิโครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” มีเป้าหมายให้เกิดฟาร์มต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับฟาร์ม 30 แห่ง ใน 23 จังหวัด

      ในปี 2564 นี้ ได้ร่วมมือกับเนคเทค และ ธ.ก.ส. ในโครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ HandySense : Smart Farming Open Innovation มีเป้าหมายจะดำเนินการ รวม 16 จุด แบ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ (เขตละ 1 ศูนย์) และศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 ศูนย์ และมีแผนจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566 นอกจากนี้จะดำเนินการขยายผลไปสู่เกษตรกรทั่วไปที่สนใจที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะควบคู่กันไปด้วย

นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า การเปิดเผยพิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทย หรือผู้สนใจทั่วไปสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์และค่าใช้สิทธิ์ นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรไทยที่จะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยได้ในราคาไม่แพงจนเกินไป เกษตรกรสามารถพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยได้ในอนาคต

     สำหรับระบบเกษตรอัจฉริยะหรือแฮนดีเซนส์ (HandySense) เป็นอุปกรณ์ IoT (Internet of Thaings) เซนเซอร์ และแอปพลิเคชันควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเพาะปลูกของพืช คือการควบคุมสภาพแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วย 4 เซนเซอร์และ 3 ฟังก์ชั่น ซึ่งใช้วัดสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก และควบคุมการให้น้ำ  ปุ๋ย อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช สำหรับพืช ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อยร้อยละ 20 โดยเฉลี่ยซึ่งเกิดจากการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรและการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดยปัจจุบันมีการติดตั้งอุปกรณ์ HandySense ทั่วประเทศแล้วจำนวน 77 แห่ง และคาดว่าจะขยายเป็น 200 แห่งได้ในปี 2565

ที่มา : ก.เกษตรฯจับมือพันธมิตรเผยแพร่พิมพ์เขียวระบบเกษตรอัจฉริยะ “HandySense” หวังพัฒนาภาคเกษตรครบวงจร – เข้มข้น กับคนข่าวเกษตรตัวจริง (kasettumkin.com)

handysense
handysensehandysense

ที่อยู่

ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (SPD)

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.)

ติดต่อเรา

025646900 ต่อ 2353

https://www.nectec.or.th/innovation/

HandySense Community

Copyright © 2020 | Privacy Policy | Terms